** คำขวัญอำเภอเสนา หลวงพ่อปานเป็นศรี ทุ่งเสนาเขียวขจี หัตถกรรมมากมี ตลาดดีบ้านแพน **

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค


สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 2 ตำบลบางนมโค
อำเภอเสนา จ.หวัดพระนครศรีอยุธยา


ความเป็นมาของวัดบางนมโค

ตั้งอยู่ริมน้ำบนฝั่งขวาของแม่น้ำน้อย ซึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณหมู่ที่ 2 ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสนา ประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.ใด ไม่พบหลักฐานยืนยัน แต่เจ้าพนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยาได้มาสำรวจที่ดิน พบว่า วัดบางนมโคเป็นวัดโบราณสถาน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากร สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพราะเป็นวัดที่เก่าแก่มากวัดหนึ่งก่อนที่จะมีการปรับปรุงก่อสร้างเพิ่มเติม ดังที่เห็นปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

เมื่อครั้งกองทัพพม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2310 นั้น พม่าได้มาตั้งค่ายกองกำลังที่สีกุก อำเภอบางบาล ซึ่งห่างจากวัดบางนมโคประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ พม่าได้ทำการกวาดต้อนผู้คน วัวควายในทุ่งแถบนี้ไปเป็นเชลย เป็นพาหนะ เป็นอาหาร สำหรับเป็นเสบียงสนับสนุนกองทัพ เอาโคของประชาชนไปอยู่ในในที่กองกำลัง จนกระทั่งโคของประชาชนในแถบนี้เหลือน้อยลงจนเกือบหมด ประชาชนจึงได้เรียกชุมชนแถบวัดนี้ว่า “ล้างนมโค” ต่อมาประชาชนมีความคิดว่าควรจะเปลี่ยนชื่อจาก “ล้างนมโค” เป็น “บางนมโค” เนื่องจากชุมชนนี้มีวัวมากกว่าสัตว์เลื้ยงอื่น ๆ ในทุ่งนี้ชาวบ้านจึงพูดติดปากว่า “บางนมโค” ทางวัดจึงได้ชื่อมาจากเหตุดังกล่าวว่า “วัดบางนมโค” ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากสืบมา

เมื่อปี พ.ศ. 2458 ในสมัยที่ท่านสมภารเย็นเป็นเจ้าอาวาส ท่านพร้อมด้วยพระสงฆ์ ตลอดจนชาวบ้านมากมาย ได้พร้อมใจกันทำการปรับปรุงก่อสร้างถาวรวัตถุที่กำลังทรุดโทรม ให้คืนสภาพเหมือนเดิม และได้วางแผนผังในการก่อสร้าง หอสวดมนต์ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ วิหาร (ต่อมาชำรุดมาก จะซ่อมก็คงไม่คุ้ม ทางวัดจึงรื้อ) และถนนรอบบริเวณวัดและสิ่งอื่น ๆ อีกมาก ยังเป็นสมบัติตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งบรรดาท่านพุทธมามกชน ได้มีส่วนบริจาคทรัพย์ร่วมกันในการปฏิสังขรณ์อีกเป็นอันมาก

วัดบางนมโคมีเนื้อที่ทั้งหมด 24 ไร่ 21 วา 3 งาน ทิศตะวันออกจดที่ดินเลขที่ 163 ทางสาธารณะประโยชน์ทิศตะวันตกจดที่มีการครอบครองแม่น้ำปลายนา ทิศเหนือจดที่ดินเลขที่ 134 มีการครอบครองแม่น้ำเก่าปลายนา ทิศใต้จดที่ดินเลขที่ 162, 163, 165 ทางสาธารณะประโยชน์

ลำดับเจ้าอาวาสวัดบางนมโค
เจ้าอาวาสวัดบางนมโค จะมีกี่รูปไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เริ่มจะมีการบันทึกเป็นหลักฐานก็ตั้งแต่

1. เจ้าอธิการคล้าย
2. พระอธิการเย็น สุนทรวงษ์ มรณภาพ ปี พ.ศ. 2478
3. ท่านพระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน) โสนันโท รับตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 มีโอกาสได้เป็นเจ้าอาวาสได้เพียง 2 ปี ก็มรณภาพลงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2480
4. พระอธิการเล็ก เกสโร
5. พระอธิการเจิม เกสโร
6. พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ)
7. พระอาจารย์อำไพ อุปเสโน
8. พระครูวิหารกิจจานุยุต (อุไร กิตติสาร)
9. พระครูสุวัจจริยาภรณ์

สิ่งปลูกสร้างภายในวัด

อุโบสถ

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยเทคอนกรีตทั้งหลัง ซึ่งเป็นการสร้างใหม่ทั้งหมดในสมัยของหลวงพ่อปาน เนื่องจากอุโบสถหลังเก่าที่สร้างอยู่เดิมเล็กและแคบ ประกอบกับชำรุดทรุดโทรม การสร้างอุโบสถหลังนี้ เข้าใจกันว่าหลวงพ่อปานตั้งใจจะทำให้เป็นชิ้นเอกในพระพุทธศาสนาซึ่งหาดูได้ยาก เป็นอุโบสถทรงไทย หลังคาสองชั้น ประกอบช่อฟ้าใบระกา มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง สีขาว สีหมากสุก สลับกันเป็นชั้น ๆ หน้าบันมีลวดลายไทยอย่างสวยงามตามแบบศิลปไทยยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีหน้าต่างด้านละ 5 ช่องหน้าต่าง ส่วนประตูอุโบสถมีด้านละ 2 ช่องประตู ที่ประตูโบสถ์ด้านหลังทั้งสองบานแกะเป็นรูปพระเวสสันดรตอนถูกขับไล่ออกจากเมือง และตอนให้ทานช้างประกอบลายไม้เครือเถาลงรักปิดทอง สวยงามมาก แล้วปิดกระจกเป็นกรอบอีกชั้นหนึ่ง บานประตูคู่นี้มีอายุประมาณ 70 ปีเศษ ฝีมือแกะสลักภาพนี้โดย นายพยุง ทรงมาลัย เป็นช่างยุครัตนโกสินทร์ที่มีฝีมือเป็นเลิศ เป็นศิลปกรรมที่น่ายกย่องชิ้นหนึ่ง อุโบสถหลังนี้มีสองชั้น คือชั้นที่อยู่เสมอดินกับชั้นที่อยู่ใต้ดิน ภายในอุโบสถมีภาพเขียนแสดงถึงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ เป็นการแสดงถึงความสุขที่ได้รับการสร้างความดีไว้ในโลกมนุษย์ เมื่อตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมที่คนสร้างแต่ความดีเป็นเครื่องตอบสนอง

ชั้นที่อยู่ใต้ดินมีบันไดเหล็กทอดลงไปด้านละหนึ่งบันได ภายใต้อุโบสถเป็นการแสดงเป็นการแสดงภาพของเมืองนรก 8 ขุม ซึ่งแต่ละขุมมีภาพปูนปั้นแสดงอย่างชัดเจน เช่น ภาพของการถูกลงโทษเมื่อเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ภาพของการถูกลงโทษเมื่อดื่มสุรา เป็นการลงโทษคนที่ประพฤติผิดศีล 5 เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ พอตายไปแล้วจะต้องได้รับกรรมชั่วที่ตนกระทำไว้ เป็นการให้คำสอนด้วยภาพที่มีค่ายิ่งแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและนำไปเป็นคติในการวางตนที่ถูกที่ควร เพื่อเตือนสติมิให้ประพฤติผิด ซึ่งการสร้างอุโบสถดังกล่าวนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในวัดใดของประเทศไทย ฝีมือการเขียนภาพนรก 8 ขุม คือ นายช่าง นาคพิทักษ์ ช่างเขียนขาวจังหวัดสุพรรณบุรี

เจดีย์

สร้างไว้เมื่อใดไม่ทราบหลักฐาน สันนิษฐานกันว่า คงมีมาพร้อมกับการสร้างวัด จากปากคำของผู้เฒ่าในละแวกนั้นก็ยังบอกอีกว่า เมื่อตนเองจำความได้ก็เห็นเจดีย์นี้มีอยู่แล้ว ประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ ว่าในการปรับปรุงวัดของหลวงพ่อปานนั้น ท่านทำการสร้างเจดีย์ก่อนสิ่งอื่น แสดงให้เห็นว่าเจดีย์องค์นี้มีมาก่อนแล้ว แต่กำลังชำรุดทรุดโทรมลง หลวงพ่อจึงเห็นว่าควรจะได้ทำนุบำรุงให้คืนสภาพเดิมก่อน เพื่อเป็นศรีสง่าแก่วัด และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการซ่อมแซมอื่น ๆ และเมื่อปี พ.ศ. 2500 ได้ช่วยกันซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดรอบเจดีย์

องค์ใหญ่ มีเจดีย์องค์เล็ก ๆ ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุม แต่ละด้านมีซุ้มประตูภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชา และต่อมาได้บรรจุพระเครื่องหกชนิดของหลวงพ่อไว้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ทราบเป็นจำนวนเท่าใด ใช้เวลาการสร้างเจดีย์ในสมัยหลวงพ่อเป็นเวลา 2 ปี จึงเสร็จ



หอสวดมนต์

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2458 หลวงพ่อปานท่านสมภารเย็น ท่านอาจารย์คล้าย พร้อมด้วยทายกและชาวบ้าน ได้ร่วมใจกันทำการก่อสร้างครั้งใหญ่ โดยสร้างขึ้นเป็นรูปหักมุข ทำด้วยไม้ชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง ที่หน้าบันของหอสวดมนต์มีพระพุทธรูป มีภาพสลักรูปราหูอมจันทร์

พ.ศ. 2492 พระมหาวีระ ถาวโร เป็นเจ้าอาวาส ได้รื้อออกเพื่อสร้างใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น ใหญ่โตมาก หลังคาเทด้วยคอนกรีตมุงกระเบื้องเคลือบ ที่หน้าบันของหอสวดมนต์มีภาพรูปปั้นหลวงพ่อปานประดับอยู่ เห็นได้ชัดเจน ประกอบด้วยลายกนกไทยเครือเถาอย่างสวยงาม

ศาลาการเปรียญ

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2479 สร้างแบบศาลาทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกา ลงรักปิดกระจก ก่อด้วยปูนซีเมนต์ หลังคาเทคอนกรีตมุงกระเบื้องเคลือบ หน้ามุขของศาลาทำเป็นดาดฟ้า มีหอปริยัติธรรม 2 หอ ภายในหอมีภาพพระเวสสันดรชาดกอยู่รอบ ๆ หอ ซึ่งมีนายประยงค์ และนายเล็ก ตั้งตรงจิตร เจ้าของร้านขายยาตราใบโพธิ์ ท่าเตียนเป็นผู้สร้างถวาย


กุฏิ

มี 3 แถว สร้างตามแบบทรงไทย เสาเทคอนกรีต เป็นเรือนไม้ฝาไม้สัก พื้นไม้ตะแบก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเผา อีกแถวหนึ่งสองหลังแฝด มีขนาดใหญ่กว่าแถวแรก หลวงพ่อปานและท่านสมภารเย็นเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และใช้เป็นที่อยู่ของท่านทั้งสองด้วย ส่วนที่เป็นที่อยู่ของท่านสมภารเย็นนั้น ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่เก็บของเก่าๆ เช่น ถ้วยชาม ของใช้ตลอดจนพระพุทธรูปปางต่างๆ ในสมัยของหลวงพ่อปานและท่านสมภารเย็นครองวัดอยู่ คล้ายๆ กับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของทีค่าเก่าๆของวัด กุฏิหลังนี้ยังไม่มีการซ่อมแซมกันเลย

โรงเรียนพระปริยัติธรรม

อยู่บนดาดฟ้าของศาลาการเปรียญเป็นการสร้างขึ้นพร้อมกับศาลาการเปรียญ เมื่อถึงสมัยเปิดการศึกษาพระธรรมวินัยประจำปี ได้มีภิกษุและสามเณรพากันเข้ารับการศึกษาเป็นประจำ วัดได้จัดสอนนักธรรมชั้นเอก ส่วนผู้สนใจจะศึกษาภาษาบาลีก็ต้องเดินทางไปศึกษาต่อกรุงเทพ นับว่าในชั้นต้นทางวัดได้พยายามให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในด้านธรรมวินัยชั้นสูงสุดเพื่อเป็นการปูพื้นฐานในด้านนี้ให้กับภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี ในสมัยหลวงพ่อปานมีชื่อว่า “โสภาวิไลธรรม”

เขื่อนหน้าวัด

หลวงพ่อปานพร้อมด้วยนายประยงค์ – นางเล็ก ตั้งตรงจิตร และชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทรัพย์ก่อสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2479 มีความยาว 5 เส้น การสร้างเขื่อนนี้ขึ้น เนื่องจากในสมัยนั้นน้ำทางเหนือไหลบ่าลงมาทางใต้เชี่ยวแรง เนื่องจากวัดตั้งอยู่เป็นมุมหักศอก น้ำจึงไหลบ่าประทะหน้าวัดอย่างรุนแรง ทำให้น้ำเซาะดินหน้าวัดพังลงน้ำทุกปี หลวงพ่อได้พิจารณาแล้วจึงชักชวนศิษย์เอกของทาน คือนายประยงค์ ตั้งตรงจิตมาช่วยกันสร้างเขื่อนเพื่อเป็นการป้องกันหน้าดินหน้าวัดพังลงน้ำ นายประยงค์ นางเล็ก ตั้งตรงจิตร ได้มีศรัทธาบริจารทรัพย์เพื่อสร้างเขื่อน ถังน้ำ ศาลาการเปรียญ ตามหลักฐานในประวัติแจกงานศพของนายประยงค์ เองเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)

หลวงพ่อใช้เวลาควบคุมการก่อสร้างเขื่อนนี้ ถึง 1 ปี จึงสำเร็จและคิดไว้ว่าจะทิ้งหินกันหน้าเขื่อนอีก แต่ยังไม่ทันจะลงมือทำ ท่านก็มรณภาพเสียก่อน ต่อมาปี 2497 เขื่อนหน้าวัดได้พังและทรุดลงเกือบหมด ทั้งนี้เกิดจากดินหน้าวัดทรุดเพราะเป็นดินอ่อนมาก น้ำเซาะตลิ่งอยู่เสมอ ภายใน 5 ปีต่อมา เขื่อนหน้าวัดจึงพังลงเหลือไม่ถึงครึ่ง ทางวัดและชาวบ้านจึงช่วยกันขุดเขื่อนที่ทรุดและตัดออกเป็นตอน ๆ

ในปี พ.ศ. 2003 เจ้าอาวาสวัดบางนมโคว่างลง ทางวัดและชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปอาราธนาท่านกิตติสาโร ภิกขุ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองดูและวัดต่อไป เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสแล้วท่านได้ชักชวนชาวบ้านที่มีศรัทธาร่วมกันซื้อหินมาทิ้งไว้ริมเขื่อน แต่ยังไม่เพียงพอ ทางวัดได้ติดต่อนายประยงค์ ตั้งตรงจิตร เพื่อขอความร่วมมือในการนี้อีก ก็ได้รับความร่วมมือในการซื้อหินมาทิ้งที่ริมเขื่อนเพิ่มเติม ได้ซ่อมแซมกันเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้ได้ 40 กว่าปีแล้ว ก็ทรุดโทรมอีก

ณ ปัจจุบัน ท่านนายอำเภอเสนาร่วมกับ นายก อบต.บางนมโค กำลังดำเนินการของบประมาณ อบจ. พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำเขื่อนหน้าวัดใหม่และปรับภูมิทัศน์วัดบางนมโคให้สวยงาม สะอาด ร่มรื่น สมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีประชาชนมานมัสการหลวงพ่อปานมากเป็นประจำทุกวัน

ถังน้ำฝน

เป็นถังน้ำคอนกรีตลักษณะทรงกลม จุน้ำได้ 15,000 ปีบ และที่กุฏิพระ จุน้ำได้ 5,000 ปีบ จ่ายน้ำแบบระบบประปา

อาศรมกรรมฐาน (ที่เก็บศพ)

มี 2 ชั้น ประโยชน์ใช้เป็นที่เจริญสมณธรรมและปลงอสุภกรรมฐานในตอนกลางคืน สภาพแวดล้อมอาศรมเป็นป่าไผ่และต้นไม้ใหญ่มาก ร่มครึ้มไปทั่วบริเวณ เงียบสงัดน่ากลัวมากในสมัยนั้น เหมาะในการบำเพ็ญความเพียรในทางสมณธรรม

หน้าห้องชั้นบนเป็นระเบียงกว้าง หลวงพ่อใช้ระเบียงเป็นที่พิจารณาซากศพในตอนกลางคืน และใช้เวลานั่งพิจารณาอสุภกรรมฐาน และเมื่อปี 2524 ได้จัดให้อยู่ปริวาสกรรมตามหลวงพ่อปาน

มณฑป

เป็นอาคารก่ออิฐปูนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2482 หลังจากหลวงพ่อปานถึงแก่มรณภาพแล้ว 1 ปี พระอธิการเจิม ทรงสร้างพร้อมพระสงฆ์และชาวบ้าน ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และใช้ประดิษฐานรูปจำลองของหลวงพ่อปานเพื่อสักการะบูชา และมีรูปจำลองของหลวงพ่อแช่ม วัดท่าฉลอม จ.ภูเก็ต และรูปจำลองเจ้าอธิการคล้าย อดีตเจ้าอาวาสวัดบางนมโค องค์แรกผู้ทรงวิทยาคม รวมอยู่ในมณฑปนี้ด้วย

เมื่อถึงงานเทศกาลไหว้พระ (เทศกาลประจำปี) ทางวัดจะจัดเป็นประจำทุกปี คืองานไหว้พระ “พระพุทธโสนันทะ” ซึ่งเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ จะจัดขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย และวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย สมัยโบราณถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญมาก คือเป็นวันปิดทองไหว้พระ ชาวบ้านหมู่บ้านตำบลใกล้ไกล จะมากันมากมายโดยทางน้ำ น้ำเต็มตลิ่ง ผู้คนสองฝั่งคลองจะเต็มไปด้วยเรือแจว เมือมาด เรือพาย เป็นจำนวนมาก ทุกคนจะสนุกสนานรื่นเริงกันและร้องเพลงเรือกันในระหว่างพายเรือไปในงานไหว้พระ เพราะเป็นช่วงว่างจาการทำนา ชาวบ้านที่อยู่ไกลจะมาก่อนวันงาน เพราะจะต้องมาพักค้างคืนที่วัด ทางวัดจะจัดศาลาที่พักและโรงทานไว้เพื่อให้ญาติโยมที่มาจากไกล ๆ ได้พักและกินอาหารจากโรงทาน

ต่อมาเมื่อหลวงพ่อปานได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2481 ชาวบ้านได้จำลองรูปปั้นหลวงพ่อปานเหมือนองค์จริง หลวงพ่อแช่ม ซึ่งเป็นอาจารย์หลวงพ่อปาน หลวงปู่คล้าย เจ้าอาวาสองค์แรกวัดบางนมโคทั้ง 3 องค์นี้ ได้จำลองไว้มณฑปหน้าอุโบสถ เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย งานไหว้พระ ชาวบ้านจะจัดงานไหว้พระมาสักการะบูชาหลวงพ่อปานกันเนืองแน่นเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบันนี้มีชาวบ้านต่างจังหวัดมากมายมานมัสการท่านเป็นประจำทุกวันโดยไม่ขาด ประกอบกับบุญบารมีหลวงพ่อปานที่ท่านได้เมตตารักษาคนไข้แบบแผนโบราณและมีวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทุกคน


ประวัติหลวงพ่อปาน

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน) เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2418 ขึ้น 14 ค่ำเดือน 8 เกิดที่ ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ นายอาด มารดาชื่อ นางอิ่ม สุทธาวงศ์ อาชีพของครอบครัว คือ การทำนา มีบุตรรวม 7 คน คือ
1. นางสาย 2. นางเอี่ยม
3. นายเหว่า 4. นายโชติ
5. นางเผือก 6. ไม่ทราบชื่อ
7. นายปาน (หลวงพ่อปานเป็นบุตรคนสุดท้อง)

หลวงพ่อปาน เดิมชื่อ ปาน เนื่องมาจากโยมบิดาเห็นว่า นิ้วก้อนมือซ้ายเป็นปานแดงตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว ซึ่งนับว่าแปลกมากและไม่ค่อยจะมีกัน

หลวงพ่อปานได้บวชเป็นสามเณรก่อนเมื่อครบอุปสมบทจึงบวชที่วัดบางนมโค ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่คล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค หลวงพ่อปานอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2438 โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระกรรมวาจาจารย์ คือ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระอนุสาวนาจารย์ คือ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านได้รับฉายาว่า “โสนันโท”

เมื่อหลวงพ่อปาน อุปสมบทแล้วได้มาอยู่ที่วัดบางปลาหมอ โดยมีหลวงพ่อสุ่น เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานวิปัสสนาพุทธาคมต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ คนถูกของ ถูกคุณไสยฯ หลวงพ่อปานได้รับการถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ จนหมดสิ้น

เรียนพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีกับอาจารย์จีน หลวงพ่อยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

และไปเรียนต่อที่วัดสระเกศราชวิมหาวิหาร กรุงเทพฯ อีกจนจบอภิธรรม 7 คัมภีร์ ใช้เวลาอยู่กรุงเทพฯ 5 ปี ขณะอยู่กรุงเทพฯ ได้เรียนเพิ่มเติมที่วัดสังเวช ด้านแพทย์แผนโบราณ

หลวงพ่อปานได้เรียนด้านกรรมฐานเพิ่มเติม ประมาณ 3 เดือนเศษ จากหลวงพ่อเนียมซึ่งเป็นอาจารย์สอนด้านกรรมฐาน วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 1 เดือนเศษ

เรียนวิชาจากชีปะขาว ในการสร้างพระเครื่องมีรูปแบบ 6 พิมพ์ เรียนจากอาจารย์แจง ซึ่งเป็นฆราวาสชาวสวรรคโลก ได้สอนยันต์เกราะเพชร เป็นยันต์ที่ยอดเยี่ยมมาก


เมื่อท่านได้มีความรู้พอสมควรแล้ว จึงได้มาจำพรรษาอยู่ทีวัดบางนมโค และเริ่มต้นแนะนำอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรและประชาชน ซึ่งท่านเป็นนักธรรมฝีปากเอกองค์หนึ่ง ที่เทศน์ได้ไพเราะมาก ตลอดจนได้ไปเทศน์ให้นักโทษประหารฟังที่วัดสามกอ เพื่อให้สำนึกบาปบุญคุณโทษ ท่านได้เล่าเรียนศึกษาวิชากัมมัฏฐานจนท่านมีความรู้ความสามารถ ทายกทายิกาในตำบลใกล้เคียงและห่างไกล มีความเลื่อมใสศรัทธาเคารพนับถือมาก

ท่านได้เป็นแพทย์แผนโบราณ ดังตราตั้งของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนยาของท่านที่มีใบมะกา ข่า หญ้าแพรก และคาถากำกับรักษาได้ทุกโรค รักษาเกี่ยวกับผีคุณไสย หรือผีเข้าสิง มีคนไข้มารักษากับท่านไม่เว้นแต่ละวัน เป็นโรคแปลก ๆ เช่น ถูกกระทำ ท่านก็รักษาให้หาย มีคนใกล้ไกลรู้จักท่านดี ผลสุดท้าย ต้องสร้างศาลาสำหรับรักษาคนไข้ และในระยะที่ท่านรักษาอยู่นั้น ท่านก็ได้ทำพระแจกซึ่งประชาชนแทบทุกทิศไปรับแจกพระเครื่องรางของท่านกันอย่างล้นหลาม พระที่สร้างขึ้นนี้เป็นเนื้อกระเบื้อง (ดินเผา) มีลักษณะเช่น อาราธนาทำน้ำมนต์รักษาโรคได้ทุกอย่างตามสมควร

ส่วนการรับพระนั้น ท่านต้องให้อยู่ในศีลธรรมและกฎหมาย หรือถือศีล 5 มิฉะนั้นพระนั้นก็จะใช้ไม่ได้ผล ซึ่งอาจจะเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่จะอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนให้ยึดมั่นในศาสนาภายในคุณธรรมสร้างแต่กรรมดี ซึ่งนับว่าความคิดของท่านได้ผลดี ในระยะนั้นท่านก็เริ่มบูรณะซ่อมแซมก่อสร้าง ศาสนาสถานภายในวัดและวัดต่าง ๆ ในบริเวณวัดใกล้เคียง

มีผู้ใหญ่หลายท่านที่เคารพนับถือท่าน เช่น ท้าววรจันทร์, หมอเจ้าโฆษิต, ม.จ.นภาภาส ภานุมาศ กรมพระนครสวรรค์ฯ, พ.อ.หลวงพิชัยรณสิทธิ์, พระยาชนภาณพิสิทธิ์, หลวงพินิจมาตรพระกษาปณ์ฯ, พระบริรักษ์กฤษฎีกา, พระองค์เจ้าธานีนิวัติ, พ.ท.พระนราธิราชภักดี, หลวงประธานถ่องวิจัย, นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร ตลอดจนพ่อค้า ประชาชน

ด้วยความดีดังกล่าว ท่านจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ เป็นพระครูวิหารกิจจานุการ เป็นพระครูพิเศษเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2474 ได้สร้างเจดีย์เป็นปฐม จะเห็นได้จากราชทินนามของหลวงพ่อว่า พระครูวิหารกิจจานุการ นั้น เป็นสัญญาลักษณ์แห่งการก่อสร้าง แต่ท่านก็ไม่ได้ไปรับพัดยศ มีบรรดาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านนำมาถวายท่านถึงที่วัด

หลวงพ่อปาน เป็นทั้งนักก่อสร้างและได้ชักชวนบรรดาศิษย์และชาวบ้าน ช่วยกันสร้างวัตถุสถานเป็นเลิศ ได้สร้างอุโบสถศาลาการเปรียญ เป็นสิบ ๆ โรงเรียนจำนวนหลายหลัง เจดีย์ หอไตร หอสวดมนต์ หอฉัน กุฏิ ถนน ส้วม ถังน้ำ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลวงพ่อนิยมสร้างมากก็จริง แต่ต้องมีถังน้ำแทบทุกครั้ง เช่น สร้างถังน้ำให้อุโบสถวัดเขาสะพานนาค ถังน้ำใต้ศาลาการเปรียญวัดบางนมโค ถังน้ำใต้หอสวดมนต์วัดหนองลำเจียก โดยมีนายประยงค์ ตั้งตรงจิตร บริจาคทรัพย์เป็นส่วนมาก

ยิ่งกว่านั้น หลวงพ่อปาน ท่านยังได้แสวงหาอาจารย์และครูดี ๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ ท่านได้มีโอกาสไปเทศน์และอบรมราษฎรทั้งทางเหนือทางใต้และประเทศพม่า ท่านมีนิสัยชอบค้นคว้า รักความก้าวหน้า มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น เพื่อหวังในความรุ่งเรือง และมั่นคงแห่งพุทธศาสนา ฉะนั้นวัดบางนมโคก็ยังอยู่ได้ด้วยบุญบารมีของหลวงพ่อปาน ซึ่งมีประชาชนและคณะศิษย์แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ได้ไปนมัสการรูปหล่อที่วัดบางนมโค ดั่งเสมือนหลวงพ่อท่านยังมีชีวิตอยู่เป็นประจำเสมอ ตราบเท่าทุกวันนี้




หลวงพ่อปานเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณอันแก่กล้าองค์หนึ่งในสมัยนั้น ท่านได้สร้างวัตถุสถานต่างๆให้แก่วัดบางนมโคและวัดใกล้ไกล และท่านได้สร้างพระเครื่องไว้ 6 แบบ มี 1. ครุฑ 2. วานร 3. ไก่ 4. เม่น 5. นก 6. ปลา นอกจากนี้ยังสร้างเหรียญ, ผ้ายันต์เกราะเพชร, ลูกอม, ตะกรุดและแหวนพระ ท่านได้แจกจ่ายวัตถุมงคลเหล่านี้ให้กับบุคคลทั่วไป รวมทั้งพระคาถาปัจเจกะโพธิ์โปรดสัตว์ ผู้ที่ได้วัตถุมงคลเหล่านี้จะได้พบกับความสำเร็จ การคุ้มครองรักษา ความปลอดภัย และการเตือนสติในการที่จะใช้วัตถุมงคลของท่านให้ถูกทาง(จะต้องรักษาศีล 5)

หลังจากหลวงพ่อปานได้มรณภาพเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2481 ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งอายุได้ 63 ปี คณะศิษย์ชาวบ้านวัดบางนมโค ได้พร้อมใจกันจัดถวายคารวะบูชาอย่างสมเกียรติ และได้จัดงานทำบุญเป็นประจำทุกๆ ปี อย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ทั่วทุกทิศานุทิศ ได้มาถวายความเคารพบูชา เพื่อเป็นการแสดงออกถึงซึ่งความกตัญญญูกตเวทีต่อปรมาจารย์ ในวันมรณภาพหลวงพ่อปาน โดยพร้อมเพรียงกัน

งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อปาน (งานไหว้พระ)

งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อปาน (งานไหว้พระ) สืบสานมาตั้งแต่เมื่อก่อนหลวงพ่อปานยังมีชีวิตอยู่ งานวัดจะจัดงานไหว้พระพุทธโสนันทะประจำปีทุกปี คือ งานไหว้พระพุทธโสนันทะซึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ งานจะจัดวันขึ้น 1 – 3 ค่ำ เดือนอ้าย สมัยโบราณ ถือว่าวันไหว้พระประจำปีของวัดบางนมโคนี้เป็นวันสำคัญมาก คือเป็นวันปิดทองไหว้พระ ชาวบ้านหมู่บ้านตำบลใกล้ไกลจะมาเที่ยวและปิดทองกันมากมาย โดยมาทางน้ำ สมัยก่อนไม่มีถนน มีแต่ แม่น้ำลำคลอง ที่ใช้ในการเดินทางไปไหนมาไหน น้ำเต็มตลิ่ง เมื่อถึงงานปิดทองไหว้พระทุกปี ผู้คนสองฝั่งคลองจะเต็มไปด้วยเรือพาย เรือแจว เรือมาด เรือม้า เรือสัมปั้นเป็นจำนวนมาก ระหว่างแจวเรือ พายเรือ ก็จะร้องเพลงเรือกันไปด้วยอย่างสนุกสนานทั้งสองริมฝั่งคลอง เพราะเป็นช่วงว่างจากการทำนา ชาวบบ้านที่อยู่ไกลจะมาก่อนวันงานต้องมาพักค้างคืนที่วัด ทางวัดจะจัดโรงทาน และเตรียมที่พักคือศาลาวัดไว้เพื่อให้ญาติโยมที่อยู่ไกลๆ ได้กินและพักอาศัย ชาวบ้านที่เดินทางมาไกลๆ คือชาวบ้านจังหวัดสุพรรณบุรีจะมาลำน้ำคลองเจ้าเจ็ด พวกจังหวัดอ่างทองจะมาลำน้ำทางผักไห่ จะพายเรือมาตามลำน้ำ และร้องเพลงเรือกันมาอย่างสนุกสนาน

ต่อมาหลวงพ่อปานได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2481 ชาวบ้านได้จำลองรูปปั้นหลวงพ่อปานเหมือนองค์จริง หลวงพ่อแช่มซึ่งเป็นอาจารย์หลวงพ่อปาน หลวงปู่คล้ายเจ้าอาวาสองค์แรกวัดบางนมโค ซึ่ง 3 องค์นี้ได้จำลองไว้ในมณฑปหน้าพระอุโบสถ เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย งานไหว้พระ ชาวบ้านก็จะมาสักการะบาหลวงพ่อปาน ชาวบ้านจะจัดงานสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ประกอบกับบารมีหลวงพ่อปานได้มีเมตตารักษาคนไข้แบบโบราณ และมีวัตถุมงคลเป็นพระเครื่องรูปแบบ 6 พิมพ์, ยันต์เกราะเพชร, ลูกอม, ตะกรุด ผู้คนที่นำไปสักการะบูชาเลื่อมใสศรัทธาทำให้บารมีท่านเลื่องลือแพร่หลายไปกว้างขวาง ผู้คนที่มาในงานปิดงานหลวงพ่อปานมีจำนวนหลายพันคน จะเดินทางไปไหนก็มีแต่ผูคนเบียดเสียดกันมากมาย และเป็นที่น่าชื่นชมมาก ที่ปัจจุบันนี้มีคนรุ่นใหม่ อายุประมาณ 8- 30 ปี เข้ามาปิดทองสักการะหลวงพ่อปานกันเป็นจำนวนมาก

*********